สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน แจงผลงาน กสร. ทวงสิทธิช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกบริษัทเลิกจ้างกะทันหันจากโควิดรอบก่อน ติดตามเงินค่าจ้างให้ลูกจ้าง วิงสแปนไปแล้วกว่า 258 ล้านบาท และอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างยูนิสัน แพน (เอเซีย) จากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง อีกกว่า 6.7 ล้านบาท
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนยังคงมีความห่วงใยถึงการช่วยเหลือลูกจ้างจำนวนมากที่ถูกบริษัทเลิกจ้างกะทันหันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบก่อน อาทิ บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ที่เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 2,500 คน บริษัท ยูนิสันแพน (เอเชีย) จำกัด เลิกจ้างลูกจ้าง จำนวน 658 คน และขณะนี้การแพร่ระบาดระลอกใหม่ มีแนวโน้มจะกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะซ้ำเติมลูกจ้างได้อีกหากยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งรัด ติดตามการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิลูกจ้างอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้รับสิทธิอย่างครบถ้วนและรวดเร็ว เพราะปัญหาค่าใช้จ่ายในเรื่องความเป็นอยู่ และปากท้องของแรงงานในปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญ
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมได้ติดตามการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด โดยได้ดำเนินการประสาน บริษัท วิงสแปนฯ จำกัด และผู้ทำแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ทราบว่านายจ้างได้นำแคชเชียร์เช็คมาจ่ายให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างแล้วจำนวน 2,441 คน รวมเป็นเงิน 258,309,031.87 บาท และยังคงมีลูกจ้างที่ยังไม่ได้มารับแคชเชียร์เช็คอีกจำนวน 59 คน ซึ่งกรมได้แนะนำให้บริษัทฯ โอนเงินตามสิทธิที่ลูกจ้างพึงจะได้รับเข้าบัญชีธนาคารตามรายชื่อของลูกจ้างทั้ง 59 คนแล้ว สำหรับลูกจ้างบริษัท ยูนิสัน แพน (เอเซีย) จำกัด ที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งกรมได้แจ้งความดำเนินคดีต่อนายจ้างฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แล้ว และได้อนุมัติเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้ลูกจ้างจำนวน 426 คน เป็นเงินจำนวน 6,743,750 บาท ซึ่งมีลูกจ้างมายื่นขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ฯ แล้ว จำนวน 175 คน เป็นเงินจำนวน 2,713,750 บาท ในขณะที่มีลูกจ้างจำนวน 252 คน ได้ทำสัญญากับนายจ้างที่ยื่นข้อเสนอว่าจะจ่ายเงินค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ลูกจ้างพอใจ และได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาเพื่อเป็นหลักฐาน ส่วนลูกจ้างที่ยังไม่ได้เข้ามายื่นขอรับเงินกองทุนฯ กรมจะได้ประสานให้ลูกจ้างเข้ามารับเงินดังกล่าวต่อไป
------------------------------------------------------
**กสร. คุ้มครองสิทธิ พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน**
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างในสถานที่ทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง โดยเฉพาะพื้นที่ก่อสร้างที่เป็นพื้นที่มีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา และมีอันตรายสูงกว่าพื้นที่ที่เป็นโรงงานทั่วไป ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการความปลอดภัยในการก่อสร้าง เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ศึกษารายละเอียด และกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ เพื่อให้นายจ้างได้ดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง และให้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงขึ้นนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ และบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับนั่งร้านและค้ำยัน และเกี่ยวกับงานก่อสร้าง
อธิบดี กสร. อธิบายเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญที่น่าสนใจของร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับนั่งร้านและค้ำยัน อาทิ การกำหนดให้นายจ้างจัดและดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับงานนั่งร้านและค้ำยัน รวมถึงจัดให้มีนั่งร้านที่มีความมั่นคงแข็งแรง โดยให้มีการคำนวณออกแบบและควบคุมโดยวิศวกร และในกรณีที่ใช้ค้ำยันรองรับการเทคอนกรีต อุปกรณ์ เครื่องจักรหรือรองรับสิ่งอื่นใด นายจ้างต้องควบคุมดูแลมิให้บุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องเข้าไปอยู่ในหรือใต้บริเวณนั้น เป็นต้น สำหรับร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับงานก่อสร้าง มีสาระสำคัญ อาทิ ในงานเจาะและงานขุด การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน นายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นได้รับอันตรายจากการเจาะหรือขุดดังกล่าว ในกรณีที่ใช้ปั้นจั่นหรือเครื่องจักรหนักปฏิบัติงานต้องจัดให้มีการป้องกันดินพังทลาย และนายจ้างต้องมิให้ลูกจ้างลงไปทำงานในรู หลุม บ่อ คู หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกันที่มีขนาดกว้างน้อยกว่า 75 เซนติเมตร และมีความลึกตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป และต้องดำเนินการให้พื้นที่ก่อสร้างมีความมั่นคงแข็งแรง จัดให้มีแสงสว่างฉุกเฉินในเขตก่อสร้าง ติดหรือตั้งป้ายสัญลักษณ์เตือนอันตรายและเครื่องหมายบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยที่เหมาะสมกับลักษณะงาน การกำหนดบริเวณเขตก่อสร้างและเขตอันตรายในเขตก่อสร้าง รวมถึงการกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นได้รับอันตรายจากการเจาะ หรือขุดรู หลุม บ่อ คู รวมถึงความปลอดภัยในการทำงานในอุโมงค์ ในน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ กรมจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้
-------------------------------------
**กสร. คุ้มครองสิทธิ พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน**